Social Link
ที่พึ่งในยามท้อ

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชย์ในเมืองพาราณสี

มีพรานคนหนึ่ง ทำอาชีพล้มช้างป่าเพื่อตัดเอางาไปขาย

เมื่อออกล่า พรานก็จะซุ่มตัวในพุ่มไม้และสังเกตุเห็นว่า ทุกครั้งที่ช้างได้พบพระปัจเจกพุทธะ ช้างก็จะหมอบลงด้วยเข่าแล้วจบ          (วางหรือวาดงวงไปมาเบาๆ) พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นอยู่เสมอ

เรียกว่า ถ้าช้างเห็นผ้าเหลือง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของผู้ทรงศีล ช้างก็จะหมอบด้วยเข่าทั้งสองแล้วกระทำการจบเพื่อแสดงความเคารพทันที

แรกๆก็สงสัยอยู่ว่า เอ๊ะ ช้างเห็นอะไร จึงหมอบเข่า และพอสำรวจไปรอบๆ ทิศ ก็เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า จึงเข้าใจว่า อ้อ ช้างคงเห็นผ้าเหลือง จึงทำอย่างนั้น

เมื่อมั่นใจว่าเป็นเพราะผ้าเหลือง เขาจึงพยายามไปหาผ้าเหลืองมาใส่บ้าง ก็พอดีไปขโมยมาได้ ในจังหวะที่พระปัจเจกพุทธะรูปหนึ่ง จะลงอาบน้ำ จึงวางจีวรไว้ที่ริมฝั่งสระน้ำ

เมื่อได้ผ้าเหลืองมาแล้ว อ้ายพรานใจบาป ก็จะถือเอาหอก ไปนั่งคลุมโปงอยู่ริมทางที่ช้างเหล่านั้นเดินผ่าน ช้าง พอเห็นเขา ก็จบด้วยสำคัญว่าเป็นพระ

และพอช้างผ่านไปจนเหลือตัวสุดท้าย พรานก็เอาหอกพุ่งใส่ช้างตัวสุดท้ายจนล้มแล้วตัดเอางาไป ทำเช่นนี้ในทุกๆวัน

จนต่อมา พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในกำเนิดช้างและได้เป็นช้างนายโขลง

พระโพธิสัตว์ ก็สังเกตเห็นว่า บริวารตนเอง เริ่มบางตาลงเรื่อยๆ จึงคิดว่า อันตรายที่เกิดแก่บริวาร น่าจะมาจากชายที่นั่งคลุมผ้าเหลืองอยู่นั่นเป็นแน่

จึงคิดอุบาลที่จะจับชายคนนั้นให้ได้ จึงส่งช้างทั้งหมดล่วงหน้าไปก่อน ส่วนตนอยู่ข้างหลังสุดแห่งโขลง

เมื่อช้างทั้งหลายเดินผ่านไป โดยมีพระโพธิสัตว์เดินอยู่ท้าย

พรานเห็นโอกาส จึงม้วนจีวรแล้วพุ่งหอกไป หมายจะปลิดชีพพระโพธิสัตว์เพื่อเอางวงอีกเช่นเดิม

แต่พระโพธิสัตว์ ที่มีสติตลอด ได้ถอยฉากออกข้างเพื่อหลบหอก

จากนั้น ก็วิ่งเข้าใส่พราน หมายจับฟาดลงดินให้ตาย แต่ไม่ทำเพราะละอายในบาป (ไม่อยากทำบาป)

จึงได้สั่งสอนพรานให้ตั้งอยู่ในศีล และปฏิญานที่จะเลิกทำมิจฉาชีพแล้วจึงปล่อยตัวไป

ท่านพุทธศาสนิกชนที่เคารพทุกท่านครับ

จีวร ถือว่าเป็นธงชัย หรือเครื่องหมายของพระอรหันต์ โดยแท้

แม้ในคัมภีร์อุบาลีเถราปทาน ได้ปรากฎอยู่ว่า

“บุคคลเห็นผ้ากาสาวพัสตร์

ที่(แม้)เปื้อนอุจจาระ ที่ถูกทิ้งไว้ตามถนนหนทาง

ก็ควรประนมมือไหว้ผ้านั้น

อันเป็นธงชัยของพระอริยเจ้า

ด้วยเศียรเกล้า”

หรือในคัมภีร์สมันตปาสาทิกา กล่าวว่า

“สมัยที่พระพุทธองค์ยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่

พระธนิยะได้ตัดไม้เป็นสมบัติของหลวงจำนวนมาก

มีความผิดตามกฎหมายบ้านเมือง

โทษฐานถึงขั้นประหารชีวิต

แต่พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์ผู้ครองกรุงราชคฤห์

ก็ทรงมีรับสั่งให้พระราชทานอภัยโทษ

เพราะทรงเห็นแก่จีวร (ผ้าเหลือง)

ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องหมายของพระอรหันต์นั่นเอง”

ดังนั้น ท่านทั้งหลายจึงควรไตร่ตรองพิจารณาด้วยสติปัญญาเถิดว่า

โดยแท้จริงแล้วนั้น รัตนะคือแก้วอันประเสริฐสุดของพุทธศาสนานั้น คือ พระรัตนตรัย คือ

พุทธรัตนะ คือ องค์สมเด็จพระบรมศาสดา ผู้ทรงตรัสรู้ได้โดยชอบด้วยพระองค์เอง แล้วทรงสอนประชุมชน

ให้ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา และใจ ตามพระธรรมวินัย

ธรรมรัตนะ คือพระธรรม อันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น

สังฆรัตนะ คือพระสงฆ์ ที่ฟังคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น

แล้ว “ปฏิบัติชอบ ตามพระธรรมวินัย”

พุทธศาสนิกชน ที่มีศรัทธามั่นคงดำรงมั่นในพระพุทธศาสนาทั้งหลาย

แม้ศรัทธาจะพึงคลอนแคลนไป มากบ้าง น้อยบ้าง ตามภูมิแห่งจิตใจของแต่ละบุคคล แต่ท่านทั้งหลาย พึงอย่าได้ละทิ้ง ที่พึ่งอันประเสริฐ หรือพระไตรรัตน์ เพราะที่พึ่งที่ระลึกอย่างอื่นในยามนี้ไม่มีอะไรประเสริฐไปกว่าการยึดมั่นในคุณแห่งพระรัตนตรัยอีกแล้ว ด้วยการตามระลึกถึงคุณแห่งพระพุทธเจ้าเนืองๆ ว่า

“อิติปิ โส ภควา (แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น)

(๑) อรหัง (ทรงเป็นผู้ห่างไกลจากกิเลส)

(๒) สัมมาสัมพุทโธ (ตรัสรู้เองโดยชอบด้วยพระองค์เอง)

(๓) วิชชาจรณสัมปันโน (ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ)

(๔) สุคโต (ผู้เสด็จไปแล้วด้วยดี)

(๕) โลกวิทู (ทรงรู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง)

(๖) อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิ (เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกได้อย่างไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า)

(๗) สัตถา (เทวมนุสสานัง เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย)

(๘) พุทโธ (เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้วด้วยธรรม)

(๙) ภควา (เป็นผู้มีความเจริญจำแนกธรรมสั่งสอนเวไนยสัตว์)

พึงระลึกถึงคุณแห่งพระธรรมเนืองๆ ว่า

(๑) สวากขาโต ภควตา ธัมโม (พระธรรมเป็นธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสดีแล้ว)

(๒) สันทิฎฐิโก (เป็นสิ่งที่ผู้บรรลุ จะพึงเห็นเอง)

(๓) อกาลิโก (เป็นสิ่งไม่ประกอบด้วยกาล)

(๔) เอหิปัสสิโก (เป็นสิ่งที่ควรเรียกให้เข้ามาดู)

(๕) โอปนยิโก (เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว)

(๖) ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ (เป็นสิ่งอันวิญญูชน จะพึงรู้ได้เฉพาะตน)

และพึงระลึกถึง “พระอริยสาวก” อยู่เนืองๆ ว่า

(๑) สุปฎิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ (สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า “เป็นผู้ปฎิบัติดีแล้ว”)

(๒) อุชุปฎิปันโน (เป็นผู้ปฎิบัติตรงแล้ว)

(๓) ญายปฏิปันโน (เป็นผู้ปฎิบัติเพื่อรู้แจ้งแห่งธรรม)

(๔) สามีจิปฏิปันโน (เป็นผู้ปฏิบัติชอบ)

นี้คือคู่บุรุษ ๔ บุรุษ บุคคล ๘ นั่นคือสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า

(๕) อาหุเนยโย (เป็นผู้ควรของคำนับ)

(๖) ปาหุเนยโย (เป็นผู้ควรแก่ของต้อนรับ)

(๗) ทักขิเณยโย (เป็นผู้ควรแก่ของทำบุญ)

(๘) อัญชลีกรณีโย (เป็นผู้ควรแก่กระทำอัญชลี)

(๙) อนุตตรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ (เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งไปกว่า)

เมื่อท่านระลึกถึงคุณแห่งพระรัตนตรัยได้เช่นนี้แล้ว ท่านจะมีจิตใจอันเป็นกุศล ใช้ปัญญาเป็นดวงตาแยกแยะออกได้ว่า

ผ้ากาสาวพัสตร์ นั้น เป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การกราบไหว้บูชา เพราะเป็นธงชัย หรือ เป็นเครื่องหมายแห่งพระอรหันต์โดยแท้

มากกว่า การไปยึดมั่น หลงมงายในตัวบุคคล เพียงเพราะว่าผู้นั้น เป็นผู้ที่ใช้จีวร เป็นเครื่องห่อหุ้มพันกายนั้นไว้ โดยไม่มีความขวนขวายในอันที่จะสร้างคุณสมบัติแห่งการเป็นพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเลย

แต่พวกเขาเหล่านั้น เพียงอาศัยผ้ากาสาวพัสตร์ เพื่อแสวงหาความปรารถนาอันลามกให้แก่ตนเองเท่านั้น

เขาเหล่านั้น จึงเป็นได้แต่เพียงนายพรานผู้มีจิตใจหยาบช้า ผู้ใช้จีวรเพื่อก่อกรรมให้กับตนเองและสร้างความมัวหมองแห่งพระศาสนาเป็นส่วนรวม เท่านั้นเอง

                                                                                            ส. คำเวียง


image
image
image
 
 
 
 

Website Policy | Privacy Policy | Security Policy | Disclaimer | ข้อกำหนดการใช้ Cookies รองรับการทำงานบน Internet Explorer v.11+, Microsoft Edge, Firefox v.47.0+, Chrome v.51+

จำนวนการเข้าชม : 966,216