ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ กำหนดให้มีส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง เรียกว่า “สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ”
จากกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ กำหนดให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีภารกิจเกี่ยวกับการดำเนินงานสนองงานพระสงฆ์และรัฐ โดยการทำนุบำรุง ส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา ให้การอุปถัมภ์คุ้มครองและส่งเสริมพัฒนางานพระพุทธศาสนา ดูแลรักษา จัดการศาสนสมบัติ พัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งให้การสนับสนุนส่งเสริม พัฒนาบุคลากร ทั้งนี้ ให้แบ่งส่วนราชการระดับกองและอำนาจหน้าที่ของแต่ละกอง สังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จำนวน ๗ กอง ประกอบด้วย กองกลาง กองพุทธศาสนศึกษา กองพุทธศาสนสถาน สำนักงานพุทธมณฑล สำนักงานศาสนสมบัติ กองส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และสำนักเลขาธิการมหาสมาคม
จากการประชุมสัมมนาเรื่องนโยบายและแนวทางการดำเนินงานของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ ที่พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ซึ่งประกอบด้วย กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะหน เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด ข้าราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีมติร่วมกันว่าควรมี “สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด” เป็นหน่วยงานในระดับพื้นที่ที่จะรองรับการกระจายอำนาจจากส่วนกลาง สู่ส่วนภูมิภาค จึงมีคำสั่งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่ ๔๐/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๗ ให้จัดตั้ง “สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด” เป็นหน่วยงานระดับกองในสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติขึ้นในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ๗๕ แห่ง ยกเว้น กรุงเทพมหานคร เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในระดับจังหวัด โดยมีหน้าที่สนองงาน คณะสงฆ์ และทำนุบำรุงส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา ให้การอุปถัมภ์คุ้มครองส่งเสริมและพัฒนางานพระพุทธศาสนา ดูแลรักษาจัดการศาสนสมบัติ รวมทั้งให้การสนับสนุน ส่งเสริมพัฒนาบุคลากรทางศาสนาในระดับจังหวัด
ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้การปฏิบัติงานสอดคล้องกับระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ ฉ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๔๓ นายกรัฐมนตรีออกกฎกระทรวงไว้ โดยให้ยกเลิกกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕ และประกาศใช้กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ลงนามเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๙
เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้คือ โดยที่สมควร จัดตั้งสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด เป็น ราชการบริหารส่วนภูมิภาค ขึ้นในสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อให้การทำนุบำรุงและส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาในระดับภูมิภาคเป็นไปอย่างคล่องตัว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สมควรปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และระบุอำนาจหน้าที่ของแต่ละส่วนราชการดังกล่าวให้เหมาะสมกับสภาพของงานจึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
ทั้งนี้ กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวกำหนดให้แบ่งส่วนราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
ก.ราชการบริหารส่วนกลาง
(๑) กองกลาง
(๒) กองพุทธศาสนศึกษา
(๓) กองพุทธศาสนสถาน
(๔) สำนักงานพุทธมณฑล
(๕) สำนักงานศาสนสมบัติ
(๖) สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม
(๗) กองส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ข.ราชการบริหารส่วนภูมิภาค
สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ศึกษา วิเคราะห์ และรายงานข้อมูลสารสนเทศด้านพระพุทธศาสนา เพื่อกำหนดนโยบายในระดับจังหวัด รวมทั้งเสนอแนะแนวทางไข
(๒) ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบาย แผนงาน โครงการของหน่วยงานในความดูแลของสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด รวมทั้งรายงานผลการดำเนินงาน ปัญหาและอุปสรรคให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ
(๓) ส่งเสริม ดูแล รักษา และทำนุบำรุงศาสนสถานและศาสนวัตถุทางพระพุทธศาสนารวมทั้งดูแล รักษา และจัดการวัดร้างและศาสนสมบัติกลางในจังหวัด
(๔) ส่งเสริมและสนับสนุนให้วัดเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และแหล่งภูมิปัญญาของชุมชนรวมทั้งส่งเสริมให้มีศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาของจังหวัด
(๕) ส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และด้านพุทธศาสนศึกษา รวมทั้งดูแลและควบคุมมาตรฐานคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาในสังกัดภายในจังหวัดให้ผู้เรียนมีความรู้คู่คุณธรรม และพัฒนาบุคลากรทางพระพุทธศาสนา
(๖) รับสนองงาน ประสานงาน และสนับสนุนกิจการและการบริหารการปกครองคณะสงฆ์ ตลอดจนการดำเนินการตามนโยบายและมาตรการในการคุ้มครองพระพุทธศาสนา
(๗) ส่งเสริมและประสานการดำเนินงานในการปฏิบัติศาสนพิธีและกิจกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
(๘) ปฏิบัติงานตามกฎหมายในความรับผิดชอบของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้วาราชการจังหวัดหรือตามที่ได้รับมอบหมาย
(๙) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย
สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดมหาสารคาม ตั้งอยู่ที่ ห้อง ๓๐๕ ศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม ตำบลแวงน่าง อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม