Social Link
มงคล ข้อที่ ๔ การอยู่ในประเทศอันสมควร

การอยู่ในประเทศอันสมควร

       สวัสดีครับ วันนี้ก็มาถึงพระคาถาที่ ๒ ซึ่งมีมงคลที่พระพุทธองค์ตรัสแสดงไว้ในบาทนี้ ๓ กถาคือ การอยู่ในประเทศอันสมควร (ปฎิรูปเทสวาสะ) ความเป็นผู้มีบุญอันทำไว้แล้ว (ปุพเพกตปุญญตา)  และ การประกอบไว้ซึ่งตนโดยชอบ (อตฺตสมฺมาปณิธิ)

      เรามาเริ่มกันที่กถาที่ ๑ คือ การอยู่ในประเทศอันสมควร (ปฎิรูปเทสวาสะ) กันก่อนนะครับ ว่าที่ชื่อว่า ประเทศ นั้น คืออย่างไร? คำตอบคือ ดินแดนอันเป็นที่อยู่ของหมู่สัตว์แห่งใดแห่งหนึ่ง มีคาม (หมู่บ้าน) นคร (เมือง) และชนบท (ภาค) เป็นต้น ชื่อว่า "ประเทศ"  แล้วประเทศแบบไหน จึงจัดว่าเป็นประเทศอันสมควร ตอบว่า ประเทศที่มีผู้คน ทำบุญกิริยาวัตถุมีทานเป็นต้น และคำสอนของพระศาสดามีองค์ ๙ ย่อมรุ่งเรืองในประเทศใด ประเทศนั้น ชื่อว่า ประเทศอันสมควร

      การอาศัยอยู่ในประเทศอันสมควรนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "เป็นมงคล" พระเป็นปัจจัยแห่งการทำบุญแห่งสัตว์ทั้งหลาย กล่าวคือ เพราะเป็นโอกาสที่จะได้อนุตตริยะ แห่งสัตว์ทั้งหลาย ได้แก่ ทัสสนานุตตริยะ (ได้เห็) สวนานุตตริยะ (ได้ฟัง)  ลาภานุตตริยะ (ได้ลาภ)  สิกขานุตตริยะ (ได้ศึกษา)  ปาริจริยานุตตริยะ (ได้ปรนนิบัติ) และอนุสสตานุตตริยะ (ได้ระลึกถึง) 

      ก็เพราะมีโอกาสในอนุตตริยะทั้ง ๖ ดังกล่าว ผู้นั้นจึงถือว่าอยู่ในประเทศอันสมควร เพราะปกติแล้ว สัตบุรุษ (คนดี) ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมเกิดในประเทศอันสมควรทั้งนั้น เมื่อบุคคลได้มีโอกาสนั่งใกล้และรับโอวาท ย่อมมีพระนิพพาน และสุคติเป็นเบื้องหน้า ท่านจึงกล่าวว่า เป็นมงคล ตัวอย่างเช่น วักกลิพราหมณ์ ความย่อว่า
     พราหมณ์วักกลิ อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี วันหนึ่ง เขาเห็นพระศาสดาเสด็จเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาต แล้วไม่อิ่มด้วยการดูพระรูปของพระศาสดา จึงตามพระพุทธเจ้าไปถึงวัดพระเชตวัน พอได้สดับเทศนาของพระศาสดา ได้ศรัทธาแล้วจึงขอบรรพชาในสำนักพระศาสดา ด้วยหมายใจว่า "จักได้เห็นพระศาสดาเป็นนิตย์ "

     ทีนี้พอบวชแล้ว ก็ไม่ทำกิจมีการสาธยายและมนสิการกัมมัฏฐานเป็นต้นเสีย เอาแต่เฝ้าดูพระศาสดาอยู่อย่างเดียว แรกเริ่ม พระศาสดาก็ไม่ได้ตรัสอะไร ก็เพราะพระองค์ทรงรอความแก่กล้าแห่งญาณของเธออยู่ แต่เมื่อเธอมีญาณแก่กล้าแล้ว จึงตรัสว่า "วักกลิ ประโยชน์อะไรของเธอด้วยกายอันเน่า ที่เธอเห็นอยู่นี้, วักกลิ ผู้ใดแล เห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นเรา,  ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นย่อมเห็นธรรม  วักกลิ ก็ผู้เห็นธรรม ชื่อว่า เห็นเรา, ผู้เห็นเรา ชื่อว่า เห็นธรรม"

       และเมื่อใกล้วันเข้าพรรษา จึงทรงทำทีประฌามเและขับไล่พระวักกลิ ที่คอยเอาแต่เฝ้ามองดูพระองค์  พระวักลินั้น เกิดความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างมาก ที่จะไม่ได้เห็นพระศาสดาอีก จนถึงขั้นจะกระโดยภูเขาฆ่าตัวตายเลยทีเดียว

       พระศาสดา ทรงทราบเรื่องนั้นแล้ว ทรงดำริว่า "วักกลินี้เมื่อไม่ได้ความปลอบโยนจากเรา จะพึงทำอุปนิสัยแห่งมรรคผลให้ฉิบหายเสีย" ดังนี้แล้ว ประทับนั่งในพระเวฬุวันนั่นเอง ทรงเปล่งพระโอภาสแสดงพระองค์ ทำปีติมีกำลังให้เกิดขึ้นแก่เธอ แล้วเหยียดพระหัตถ์ออกมา พร้อมตรัสว่า "มาเถิด วักกลิ อย่ากลัวเลย"

        พอเห็นพระพุทธเจ้าพร้อมกับได้รับคำปลอบประโลมเช่นนี้แล้ว ทำให้พระวักกลิ เกิดปีติ จนไม่รู่้สึกตัว ถึงขนาดลอยไปเพื่อจะไปเฝ้าต่อหน้าพระพักตร์พระศาสดาเลยทีเดียว  แต่พอระลึกถึงคาถาที่พระศาสดาตรัสแสดงไว้ จึงข่มปีติไว้ได้ในอากาศนั่นแล และได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา 

         การอยู่ในประเทศเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าของพระวักกลินั้น ย่อมเป็นปัจจัยแห่งการได้อนุตตริยะ ๖ ดังพรรณนามาฉะนี้

         วันนี้ ขอจบไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอบพระคุณทุกท่านที่ติดตามครับ

         ส. คำเวียง


image
image
image
 
 
 
 

Website Policy | Privacy Policy | Security Policy | Disclaimer | ข้อกำหนดการใช้ Cookies รองรับการทำงานบน Internet Explorer v.11+, Microsoft Edge, Firefox v.47.0+, Chrome v.51+

จำนวนการเข้าชม : 966,216