Social Link
มงคล ข้อที่ ๕ ความเป็นผู้มีบุญอันทำไว้ในก่อน

             สวัสดีครับ วันนี้ก็มาถึงมงคลข้อที่ ๕ ว่าด้วยเรื่อง ความเป็นผู้มีบุญอันทำไว้ในก่อน 

             ผู้มีบุญอันทำไว้ในก่อน ได้แก่ ผู้มีกุศลอันสั่งสม คือ มีอธิการอันทำไว้ปรารภพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระขีณาพส ในชาติที่ล่วงมาแล้ว เมื่อบุคคลเหล่านั้น   มีกุศลมูลพอกพูนขี้นแล้ว พอได้สดับเทศนาของพระพุทธเจ้า หรือพระสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมบรรลุพระอรหัตด้วยกุศลมูลนั้นนั่นแล เพราะฉะนั้น ความที่บุคคลเห็นปานนี้มีบุญ
อันทำไว้ในก่อน จึงตรัสว่า "เป็นมงคล" นั่นเอง

             บุญอันทำไว้ในก่อน นี้ ถือเป็นเสบียงที่ติดตัวมนุษย์ไปสู่ภพภูมิข้างหน้า ดังพุทธสุภาษิตที่มาในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค ว่า

                                  ปุญฺญานิ ปรโลกสฺมึ ปติฏฺฐา โหนฺติ ปาณินํ.
                                            บุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ในโลกหน้า 
            เมื่อเราทำบุญกุศลไว้แล้ว ผลบุญที่เราทำไว้ในอดีต ก็ติดตามเราไปในโลกอนาคต และตัวเราก็ย่อมได้เสวยผลานิสงส์จากบุญนั้น คนอื่นๆ ที่ไม่ได้ทำไว้ ก็ไม่อาจได้รับส่วนแห่งบุญนั้น ดังภาษิตอีสานที่ว่า 

                                    "เพิ่นว่าบุญบุญนี้ บ่อมีไผสิปันแจกกันได้แล้ว

                                    บ่ห่อนแหกเคิ่งได้ คือไม้ผ่ากลาง

                                    คือจักเฮากินเข้า เฮากินกะเฮาอิ่ม

                                    บ่อห่อนไปอิ่มท้อง เขานั้นผู้บ่อกิน ได้แล้ว" 

              อีกประการหนึ่ง อานิสงส์แห่งบุญที่เราทำไว้นั้น ใครๆ ก็ไม่อาจลัก หรือ พราก ไปจากเราได้ แม้เราให้ไป แต่เขาไม่เคยทำบุญเอาไว้ เขาก็ไม่อาจรับเอาบุญหรืออุปกรณ์แห่งบุญนั้น ไว้ได้  ดังมีตัวอย่างต่อไปนี้เป็นอุทาหรณ์
              ในอดีตกาล ได้มีบุรุษหาฟืนคนหนึ่ง ในกรุงพาราณสี. วันหนึ่ง เขาขนฟืนมาจากป่า แต่ไปไม่ทันเวลาปิดประตูเมือง จึงนอนที่เทวสถานแห่งหนึ่ง  ในเวลาเย็น ฝูงไก่เป็นอันมากที่ถูกปล่อยไว้และนอนอยู่บนต้นไม้ต้นหนึ่ง ไม่ไกลจากเทวสถานนั้น
              ในบรรดาไก่เหล่านั้น ไก่ตัวที่นอนอยู่ข้างบนตัวหนึ่ง ก็ดันไปถ่ายอุจจาระรดลงบนตัวไก่ตัวที่นอนอยู่ข้างใต้ เมื่อไก่ตัวใต้กล่าวว่า "ใครถ่ายอุจจาระรดลงบนตัวเรา ?" กล่าวว่า "เราไม่ทันพิจารณา ถ่ายลงไป" พูดแล้วไม่พอ ยังขืนถ่ายซ้ำลงไปอีก
              ทีนี่ ไก่ทั้ง ๒ ตัวนั้น ก็เกิดวิวาทะโต้เถียงกัน ว่า  "เอ็งมีดีอะไร (วะ) คือประมาณว่า จะเอาอะไรมาสู้กับเค้า ว่างั้นเหอะ  ทีนั้น ไก่ตัวใต้ ก็พูดข่มไปว่า "ใครก็ตาม ที่ฆ่าเราแล้ว ปิ้งที่ถ่านไฟ กินเนื้อที่สุกแล้ว จะได้ทรัพย์พันกหาปณะแต่เช้าตรู่."
              ส่วนไก่ตัวบน ก็หัวเราะเยาะ โถ่ มีแค่นี้ทำมาอวดอ้าง ข้านี่สิ ของแท้  ใครก็ตาม ได้กินเนื้อล่ำของเรา คนนั้นจะได้เป็นพระราชา  คนที่ได้กินเนื้อข้างนอก ถ้าเป็นบุรุษ ก็จะได้ตำแหน่งเสนาบดี แต่ถ้าเป็นสตรีจะได้ตำแหน่งอัครเมหสี ส่วนคนกินเนื้อติดกระดูก  ถ้าเป็นคฤหัสถ์ จะได้ตำแหน่งขุนคลัง  ถ้าเป็นบรรพชิต จะได้เป็นราชกุลุปกะ (ผู้เช้าถึงราชสกุล)
              ไอ้เจ้าบุรุษหาฟืน นอนอยู่ ได้ยินคำของไก่ทั้งสองตัว ก็ยิ้มกริ่ม แล้วจึงค่อยๆย่องขึ้นไปจับเอาไก่ตัวบนฆ่าเสีย ด้วยหมายใจว่า "ข้า จักเป็นพระราชา" จากนั้น จึงไปเรือนหาภรรยา แล้วสั่งว่า "เธอจงปรุงเนื้อไก่นี้ให้ได้ดีนะ  นางทำตามคำสั่งนั้นแล้วก็นำเมนูไก่ไปให้สามีกิน
              เขากล่าวว่า "นางผู้เจริญ เนื้อนี้มีอานุภาพมาก, ฉันกินมันแล้ว จัดได้เป็นพระราชา, เธอก็จักเป็นอัครเมสี, เธอจงถือเอาข้าวและเนื้อมา, เราจักอาบน้ำในแม่น้ำคงคา แล้วจึงบริโภคด้วยกัน."
              ภริยาและสามีก็พากันไปที่ท่าน้ำ จัดแจงวางภาชนะใส่ข้าวไว้ใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคา แล้วก็ลงไปอาบน้ำ  บังเอิญซะเหลือเกินว่า ในขณะที่ทั้งคู่กำลังอาบน้ำอยู่นั้น ก็ดันมีลมพายุเกิดขึ้นแล้วพัดเอาภาชนะใส่ข้าวลอยหายไป ...อดเลยสิครับ ความหวังที่จะได้เป็นพระราชา หายวับไปในพริบตา สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะว่าบุรุษหาฟืนคนนั้นกับภริยา ไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะไดัรับสิรินั้นไปครอบครอง  
              และภาชนะใส่ข้าวนั้น กลับลอยไปหาคนที่คู่ควรกับมัน ก็คือมหาอามาตย์ควาญช้างผู้หนึ่ง ที่กำลังให้ช้างอาบน้ำอยู่ในแม่น้ำ เขามองเห็นภาชนะใส่ข้าวนั้นถูกกระแสน้ำพัดมา จึงให้คนยกขึ้นเห็นอาหารทั้งหมด แล้วสั่งให้ปิดภาชนะใส่ข้าวนั้นแล้วส่งไปแก่ภริยา
              ทีนั้น ดาบสจักษุทิพย์กุลุปกะของมหาอมาตย์ความช้างรูปหนึ่ง พักอยู่ในพระราชอุทยาน พิจารณาด้วยจักษุทิพย์ว่า "อุปัฏฐากของเราไม่สละตำแหน่งควาญช้าง เมื่อไรหนอ จึงจักได้สมบัติ ?" ทราบเหตุนั้นแล้ว จึงไปนั่งอยู่บนเรือนของครวญช้างก่อนเขาจะกลับมาถึง  ฝ่ายท่านควาญช้าง มาถึงแล้วก็สั่งให้คนนำภาชนะใส่ข้าวนั้นมาถวายแก่ดาบส อาจารย์ของตนเอง
              ดาบส จึงจัดการให้แบ่งเนื้อออกเป็นส่วนๆ ให้คนที่จะได้ตำแหน่งนั้นๆ ได้กินเนื้อส่วนนั้นไป ส่วนตนเองก็กินเนื้อติดกระดูก พอทุกคนได้กินกันหมดแล้ว จึงเฉลยความลับไปว่า "จากนี้ไป ๓ วัน ท่านจะเป็นพระราชา รักษาเนื้อรักษาตัวให้ดีนะ" แล้วก็ลาไป
              ๓ วันผ่านไป พระเจ้าสามนต์องค์หนึ่ง เสด็จมาล้อมกรุงพาราณสีเอาไว้ พระราชาทรงปลอมพระองค์ โดยให้นายควาญช้าง ทรงเครื่องพระราชาไว้แทน แล้วพระองค์ในร่างปลอม ก็ออกเสด็จตรวจกองทัพ และถูกลูกศรลูกหนึ่งแทงสวรรคตในที่นั้นนั่นเอง.
               คราญช้าง ทราบความที่พระราชานั้นสวรรคตแล้ว จึงให้นำกหาปณะเป็นอันมากออกมา แล้วให้คนตีกลองเที่ยวป่าวประกาศ ว่า "ใครอยากได้ทรัพย์ ก็จงรบ"          พลนิกายก็ฮึกเหิม จึงช่วยกันรบจนได้รับชัยชนะในสงครามครั้งนี้
               พวกอมาตย์ เมื่อทำการถวายพระเพลิงพระศพพระราชาของตนแล้ว ก็ปรึกษากันว่า "พระราชา เมื่อยังทรงพระชนม์อยู่ ได้พระราชทานเพศของพระองค์แก่ควาญช้างนี้, ควาญช้างนี้แท้ๆ ทำการรบ จนสามารถกู้ราชสมบัติเอาไว้ได้ พวกเราจักให้ราชสมบัติแก่ควาญช้างนี้แหละ" ดังนี้แล้ว จึงพร้อมใจกันอภิเษกควาญช้างให้เป็นพระราชา พร้อมตั้งภริยาของเขาให้เป็น อัครมเหสี  ส่วนพระดาบส ก็ได้เป็นราชกุลุปกะ สมปรารถนาไปตามๆกันเลยทีเดียว
                เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว พระศาสดา จึงได้ตรัสแสดงพระคาถา ไว้ว่า
                                                              "คนไม่มีบุญ มีศิลปะก็ตาม ไม่มีศิลปะก็ตาม
                                                               มีความขวนขวาย รวบรวมทรัพย์ใดไว้เป็นอัน
                                                               มาก  คนมีบุญเท่านั้น ย่อมบริโภคทรัพย์เหล่านั้น                                                                                                                                                       โภคะเป็นอันมาก ล่วงสัตว์เหล่าอื่นเสีย
                                                               เกิดขึ้นแก่คนผู้ทำบุญไว้ ในที่ทุกสถานที่เดียว.
                                                               อนึ่ง โภคะเป็นอันมาก ย่อมเกิดขึ้นในที่แม้มิใช่
                                                               บ่อเกิดทั้งหลาย."

               ขอบพระคุณทุกท่านที่ติดตามครับ 

                                                                                      ส. คำเวียง


image
image
image
 
 
 
 

Website Policy | Privacy Policy | Security Policy | Disclaimer | ข้อกำหนดการใช้ Cookies รองรับการทำงานบน Internet Explorer v.11+, Microsoft Edge, Firefox v.47.0+, Chrome v.51+

จำนวนการเข้าชม : 748,842