Social Link
มงคล ข้อที่ ๖ การตั้งตนไว้ชอบ

                 การตั้งตนไว้ชอบ

                สวัสดีครับ วันนี้มาถึงมงคลข้อสุดท้ายในบาทพระคาถาที่ ๒ คือ การตั้งตนไว้ขอบ

               ก่อนอื่นท่านอธิบายความหมายของคำว่า "ตน" ในทางพระพุทธศาสนาเอาไว้ว่า จิต ชื่อว่า ตน  อีกนัย ภาพทั้งหมด ชื่อว่าตน จิตและอัตภาพทั้ง ๒ นั้น เรียกว่า ตน เพราะอรรถว่าไป ได้แก่ แล่นไปสู่ภพน้อยภพใหญ่ ถึง คือประสบทุกข์ในสงสารต่างโดยชาติและชราเป็นต้นติดต่อกัน อตฺต ธาตุ เป็นไปในความไปโดยความติดต่อ ความไปไม่ขาดระยะ ชื่อว่า ความไปโดยความติดต่อ นั่นเอง

              ทีนี่ ท่านก็ขยายความต่อไปว่า ตั้งตนอย่างไร จึงเรียกว่า ตั้งตนไว้ชอบ อธิบายว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ ยังตนผู้ทุศีลให้ตั้งอยู่ในศีล ยังตนผู้ไม่มีศรัทธาให้ตั้งอยู่ในความถึงพร้อมด้วยศรัทธา ยังตนผู้ตระหนี่ให้ตั้งอยู่ในความถึงพร้อมด้วยการบริจาค  นี้เรียกว่า การตั้งตนไว้ชอบ

             อนึ่ง จิตที่บุคคลตั้งไว้ชอบ อาจอำนวยสมบัติ และความสุขได้ทุกอย่างได้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า "การตั้งตนไว้โดยชอบนั้น เป็นมงคล."

             ในอดีตกาล ในกาลของพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสป มีโจรจำนวน ๕๐๐ คน ทำกรรมมีการฆ่าชาวบ้านเป็นต้น เลี้ยงชีพด้วยโจรกรรม วันหนึ่ง โจรเหล่านั้นถูกพวกชาวบ้านติดตาม หนีเข้าไปป่าพบภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรรูปหนึ่ง ณ ที่นั้น ไหว้แล้ว กล่าวว่า "ขอท่านจงเป็นที่พึงของพวกกระผมเถิด ขอรับ." ท่านกล่าวว่า "ชื่อว่าที่พึ่งเช่นกับศีลไม่มี, แม้พวกท่านทุกคน จงสมาทานเบญจศีล," แล้วให้ศีลแก่โจรเหล่านั้น กล่าวสอนโจรเหล่านั้นว่า "บัดนี้ พวกท่านเป็นผู้มีศีล, ไม่ควรล่วงศีลแม้เพราะเหตุมีชีวิตเลย, ไม่ควรทำความประทุษร้ายใจ."
โจรเหล่านั้น รับพร้อมกันว่า "ดีละ"
ทีนั้น พวกชาวบ้าน ถึงสถานที่นั้นแล้ว ฆ่าโจรเหล่านั้นทั้งหมด. โจรเหล่านั้น มีศีลไม่ขาด ทำกาละแล้ว บังเกิดในเทวโลก. บรรดาโจรเหล่านั้น หัวหน้าโจร ได้เป็นหัวหน้าเทพบุตรแล้ว.เทพบุตรเหล่านั้น ท่องเที่ยวไปในเทวโลกนั้นแล้ว บังเกิดในบ้านชาวประมง ซึ่งมีอยู่ ๕๐๐ สกุล ใกล้ประตูกรุงสาวัตถี. บรรดาเทพบุตรเหล่านั้น หัวหน้าเทพบุตร บังเกิดในสกุลของหัวหน้าชาวประมงได้เป็นกุลบุตรนามว่า ยโสชะ เป็นบุรุษเลิศกว่าบุรุษเหล่านั้น. พวกกุลบุตรนอกนี้ บังเกิดในสกุลนอกจากนี้  วันหนึ่ง กุลบุตรเหล่านั้น ทอดแหในแม่น้ำอจิรวดี ได้ปลาตัวหนึ่ง มีสีเหมือนทอง จึงปรึกษากันว่า "ปลาตัวนี้มีสีเหมือนทอง, พวกเราจะแสดงปลานั้นแด่พระราช" ใส่ปลานั้นลงในเรือยกเรือไปแสดงแด่พระเจ้าโกศลพระราชา ให้กุลบุตรเหล่านั้นนั่นเองนำปลาตัวนั้น เสด็จไปสู่พระเชตวัน ทรงแสดงแด่พระศาสดา. พระศาสดา เมื่อทรงแสดงธรรมอันเหมาะแก่ขณะนั้น ทรงทำปลานั้นให้เป็นอุปัตติเหตุ (เหตุเกิด) และทรงแสดงกปิลสูตรในสุตตนิบาตแล้ว ได้ตรัสคาถา ๔ คาถาในตัณหาวรรคธรรม  ในเวลาจบคาถา ชาวประมงเหล่านั้น ถึงความสลดใจ บวชในสำนักพระศาสดา ภายหลัง บรรลุพระอรหัต  ได้เป็นผู้มีการบริโภคเป็นอันเดียวกันกับพระศาสดา ด้วยการบริโภคธรรมคือสมาบัติ เป็นธรรมเครื่องอยู่ไม่หวั่นไหว

            นี่คือ ตัวอย่างของชนผู้ยังตนผู้ทุศีลให้ตั้งอยู่ในศีล และได้อานิสงส์แห่งศีล นั้น ในมงคลว่าด้วย การตั้งตนโดยชอบแล 

            วันนี้  ขอจบเพียงเท่านี้ สวัสดีทุกท่านครับ

                                                             ส.คำเวียง

 


image
image
image
 
 
 
 

Website Policy | Privacy Policy | Security Policy | Disclaimer | ข้อกำหนดการใช้ Cookies รองรับการทำงานบน Internet Explorer v.11+, Microsoft Edge, Firefox v.47.0+, Chrome v.51+

จำนวนการเข้าชม : 750,358