Social Link
มงคล ข้อที่ ๒ การคบบัณฑิต

มงคล ข้อที่ ๒ การคบบัณฑิต

       สวัสดีครับ ในมงคลข้อที่ ๑ ว่าด้วยการไม่คบคนพาล ที่ผ่านมานั้น ได้พูดถึงการเกี่ยวข้องกับคนพาลด้วยอาการ ๕ อย่าง คือ เกี่ยวข้องด้วยการฟัง ๑ เกี่ยวข้องด้วยการเห็น ๑ เกี่ยวข้องด้วยการสนทนาปราศรัย ๑ เกี่ยวข้องด้วยการกินร่วม ๑ เกี่ยวข้องด้วยกาย ๑ และได้ยกอดีดนิทานที่ท่านได้รจนามาประกอบไว้พอสังเขป พอเป็นแนวทางแห่งการศึกษาอย่างคร่าวๆ หากท่านที่ประสงค์จะศึกษาเพื่อเพิ่มความรู้และสติปัญญา ก็สามารถศึกษาค้นคว้าได้ในหนังสือมงคลทีปนี ซึ่งท่านได้อธิบายขยายเนื้อความพร้อมบทวิเคราะห์ศัพท์อย่างละเอียด 

       ในวันนี้ จึงขอยกมงคลข้อที่ ๒ ว่าด้วยการคบบัณฑิต มาเล่าเป็นหัวข้อต่อไป  

       "บัณฑิต" มีลักษณะแตกต่างตรงกันข้ามกับ คนพาล โดยสิ้นเชิง กล่าวคือ คนพาล นั้น นอกจากตนเองจะเน่าเหม็นฉาวโฉ่แล้ว ยังทำให้ผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องส้องเสพกับตนเองนั้น พลอยเหม็นเน่าไปด้วย อุปมาดัง ปลาร้าพันห่อด้วยใบไม้ ส่วนบัณฑิตนั้น เป็นเช่นกับของหอมมีกฤษณาและมาลาเป็นต้น เมื่อเข้าไปเกี่ยวข้องและส้องเสพกับบัณฑิตแล้ว ย่อมได้รับประโยชน์ในทิฎฐธรรม(ภพนี้)และประโยชน์ในสัมปรายภพ(ภพหน้า) ดังโคลงโลกนิติที่ว่า 

ใบพ้อพันห่อหุ้ม  กฤษณา

หอมระรวยรสพา  เพริศด้วย

คือคนเสพเสน่หา  นักปราชญ์

ความสุขซาบฤาม้วย ดุจไม้กลิ่นหอม ฯ

บัณฑิต เมื่อทำ พูด และคิด ก็มักจะทำ พูด และคิด ในเรื่องอันเป็นกุศลธรรม ทั้งยังแนะนำแต่ประโยชน์ให้แก่ผู้เข้าไปส้องเสพอีกด้วย ดังอดีตนิทานเรื่อง พาณิช ๗๐๐ คน  พอเป็นแนวทางการศึกษาและปฏิบัติ ดังนี้

ในอดีตกาล พาณิช ๗๐๐ คน แล่นสำเภาไปสู่สมุทร และในวันที่ ๗  สำเภาได้เกิดอัปปางลง น้ำทะลักเข้าไปในเรือ พวกพาณิชเมื่อประสพภัย ต่างระบุชื่อเทพดาที่ตนเคารพนับถือและอ้อนวอนขอให้มีชีวิตอยู่  แต่ทว่า ในท่ามกลางพาณิชเหล่านั้น กลับมีบุรุษผู้หนึ่ง นั่งนิ่งและไม่หวาดกลัวต่อภัยที่เกิดขึ้นเลย เพื่อนๆมองเห็นก็เกิดความสงสัยว่า ทำไมเขาจึงไม่กลัวต่อความตายที่กำลังจะมาถึง จึงพากันเข้าไปถามเหตุผลจากเขา และได้รับคำตอบว่า เขาคำนึงถึงทานที่ตนได้ถวายแด่ภิกษุสงฆ์กับสรณะและศีลที่ตนรับในวันที่ตนลงสู่สำเภา 
พวกพาณิชทั้งหลาย จึงถามว่า นอกจากท่านแล้ว คนอื่นๆ ก็สามารถรักษาศีลได้ด้วยหรือ ถ้าอย่างนั้น ขอให้ท่านได้โปรดบอก(ให้)ศีลแก่พวกข้าพเจ้าด้วย
พาณิชบัณฑิตท่านนั้น จึงได้จัดคนเหล่านั้น ออกเป็นพวกๆละ๑๐๐ คน แล้วก็บอกศีล ๕ ให้สมาทานตาม
บรรดาคนทั้ง ๗๐๐ คนนั้น ร้อยคนแรก ได้รับศีลขณะที่กำลังยืนอยู่ในน้ำประมาณแค่ข้อเท้า ร้อยที่ ๒ ยืนประมาณแค่เข่า, ร้อยที่ ๓ ประมาณแค่สะเอว, ร้อยที่ ๔ ประมาณแค่สะดือ, ร้อยที่ ๕ ประมาณแค่นม, ร้อยที่ ๖ ประมาณแค่คอ, และร้อยที่ ๗ ได้รับในเมื่อน้ำเค็มกำลังไหลเข้าปาก เสร็จแล้ว จึงประกาศว่า "ที่พึ่งอย่างอื่นของพวกท่านไม่มี, พวกท่านจงระลึกถึงศีลไว้อย่างเดียวเถิด" ดังนี้แล้ว ตัวเองตายไปบังเกิดเป็นเทพบุตรในภพดาวดึงส์  แม้คนเหล่านั้น ก็เกิดเป็นเทพบุตรในภพดาวดึงส์เหมือนกัน เพราะอานิสงส์แห่งศีลที่ได้รับในเวลาใกล้ตาย
เทพบุตรเหล่านั้นทั้งหมด ท่านเรียกว่า "สตุลลปกายิกา (ผู้ตั้งอยู่ในคณะยกย่องความดี) " เพราะเป็นผู้ยกย่องธรรมของสัตบุรุษด้วยอำนาจสมาทาน แล้วบังเกิดในหมู่ชาวสวรรค์ 

วิมานของเทพบุตรเหล่านั้น บังเกิดด้วยสามารถเป็นลดหลั่นกันอย่างนี้คือ บรรดาเทพบุตรเหล่านั้น วิมานทองของเทพบุตรผู้เป็นอาจารย์ ประมาณได้ ๑๐๐ โยชน์ บังเกิดในท่ามกลางวิมานทั้งหมด, วิมานทั้งหลายของพวกเทพบุตรอันเตวาสิก บังเกิดแวดล้อมวิมานของเทพบุตรผู้เป็นอาจารย์ วิมานชั้นต่ำทั้งหมดของเทพบุตรเหล่านั้นประมาณได้
๑๒ โยชน์

เทพบุตรเหล่านั้น ระลึกถึงกรรมในขณะที่บังเกิดว่าได้สมบัติเพราะอาศัยอาจารย์ ประสงค์จะกล่าวสรรเสริญคุณของอาจารย์ในสำนักพระศาสดา จึงพากันมาสู่พระเชตวัน ในลำดับมัชฌิมยาม ถวายบังคมพระศาสดาแล้วยืน ณ ส่วนข้าหนึ่ง

บรรดาเทพดาเหล่านั้น เทพดา ๖ องค์ปรารถนาจะกล่าวคาถาองค์ละคาถาตามลำดับ ได้กล่าว ๖ คาถา ทำบาทที่ ๔ ให้แปลกกัน และ ๓ บาท
นอกนี้ให้เสมอเป็นอย่างเดียวกันว่า
๑. "บุคคลพึงนั่งร่วมกับสัตบุรุษอย่างเดียว,
    พึงทำความสนิทสนมกับสัตบุรุษ เพราะรู้ชัด
    สัทธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย ย่อมมีแต่ความดี ไม่มีความชั่วเลย.
๒. บุคคลพึงนั่งร่วมกับสัตบุรุษอย่างเดียว, พึง
   ทำความสนิมสนมกับสัตบุรุษ; เพราะรู้ชัด
   สัทธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย บุคคลย่อมได้
   ปัญญา จะได้จากบุคคลอื่นหามิได้เลย.
๓. บุคคลพึงนั่งร่วมกับสัตบุรุษอย่างเดียว,
    พึงทำความสนิทสนมกับสัตบุรุษ; เพราะรู้ชัด
    สัทธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย บุคคลย่อมไม่
    เศร้าโศก ในท่ามกลางแห่งผู้เศร้าโศก.
๔.  บุคคลพึงนั่งร่วมกับสัตบุรุษอย่างเดียว,
     พึงทำความสนิทสนมกับสัตบุรุษ; เพราะรู้ชัด
     สัทธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย บุคคลย่อมรุ่งเรือง
     ในท่ามกลางญาติ.
๕. บุคคลพึงนั่งร่วมกับสัตบุรุษอย่างเดียว,
    พึงทำความสนิทสนมกับสัตบุรุษ; เพราะรู้ชัด
    สัทธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย
    ย่อมไปสู่สุคติ.
๖. บุคคลพึงนั่งร่วมกับสัตบุรุษอย่างเดียว,
    พึงทำความสนิทสนมกับสัตบุรุษ; เพราะรู้ชัด
    สัทธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย
    ย่อมตั้งอยู่ชั่วกาลนาน."
เมื่อได้ฟังคำอัันเป็นสุภาษิตของเหล่าเทพบุตรแล้ว เพื่อจะทำวาจาให้เป็นสุภาษิตยิ่งขึ้นเพื่อประโยชน์แก่การบรรลุธรรมของสัตว์โลกทั้งหลาย พระผู้มีพระภาค จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
"บุคคลพึงนั่งร่วมกับสัตบุรุษอย่างเดียว, พึง
ทำความสนิทสนมกับสัตบุรุษ; เพราะรู้ทั่วถึง
สัทธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย บุคคลย่อมหลุด
พ้นจากทุกข์ทั้งปวง."

สำหรับวันนี้ ขอยุติไว้เพียงเท่านี้ ขอบพระคุณทุกท่านครับ

ส.คำเวียง
 


image รูปภาพ
image
image
image
image
image

image วิดีโอ

ไฟล์เอกสารประกอบ
pdf ตัวอย่างแสดงผลไฟล์เอกสาร.pdf |

image
image
image
 
 
 
 

Website Policy | Privacy Policy | Security Policy | Disclaimer | ข้อกำหนดการใช้ Cookies รองรับการทำงานบน Internet Explorer v.11+, Microsoft Edge, Firefox v.47.0+, Chrome v.51+

จำนวนการเข้าชม : 716,978