Social Link
พระบรมธาตุนาดูน

    พระบรมธาตุนาดูน  ตั้งอยู่ที่ บ้านนาดูน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม  นับเป็นสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาคู่บ้านคู่เมืองของ ชาวมหาสารคาม  เป็นปูชนียสถานที่สร้างขึ้นเพื่อสิริมงคลแก่ภูมิภาค พื้นที่โดยรอบได้ถูกพัฒนาเพื่อเป็นศูนย์กลางส่งเสริมกิจการ พระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรม ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงเรียกขานว่าเป็น “พุทธมณฑลอีสาน” รอบองค์พระธาตุมีบริเวณ กว้างขวาง จัดแต่งเป็นสวนรุกขชาติ ปลูกต้นไม้ในพุทธประวัติ  พระธาตุนาดูน   เป็นเขตที่มีการขุดพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีต เพราะบริเวณนี้ได้เคยเป็นที่ตั้งของนครจำปาศรีมาก่อน โบราณวัตถุต่างๆที่ค้นพบ ได้นำไปแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดขอนแก่น และที่สำคัญยิ่งก็คือการขุดพบสถูป บรรจุพระบรมสารีริกธาตุบรรจุ ในตลับทองคำ เงิน และสำริด ซึ่งสันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 13-15 สมัยทวาราวดี                                                                                                                                                                              รูปลักษณะพระธาตุนาดูน จำลองแบบจากสถูปสำริดที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ฐานประยุกต์แบบศิลปะทวาราวดี ฐานกว้าง 35.70 * 35.70 เมตร มีความสูงจากฐานถึงยอด 50.50 เมตร ฐานรากและโครงสร้างทั่วไปเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ทั้งหมด ผนังภายนอก พระธาตุส่วนใหญ่ทำด้วยหินล้างเบอร์ 4 บางแห่งฉาบปูนเรียบสีขาว มีลวดลายลวดบัว เสาบัวต่าง ๆ จำลองแบบพระเครื่องพิมพ์ต่าง ๆ ที่ขุดพบมาประดิษฐานพระธาตุจำนวน 32 รูป และมีมารแบกปั้นเป็นแบบนูนสูงประดับที่ฐานจำนวน 40 ตัว ตัวองค์พระธาตุจะแบ่งออก เป็น 16 ชั้น ลักษณะการก่อสร้างแบบคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหมดภายในโปร่ง                                                                                                  ชั้นที่ 1 คือ ส่วนฐานที่เป็นองค์พระธาตุมีลักษณะกลม มีพื้นทางเดินโดยรอบ และมีซุ้มประตูลายปูนปั้น 4 ประตูประจำทิศ ผนังประดับ ด้วยกระเบื้องด่านเกวียนศิลปะของ ภาคอีสาน พื้นปูด้วยกระเบื้องเซรามิก 6 เหลี่ยม ผนังทั่วไปทำด้วยหินล้าง
    ชั้นที่ 2 สูงจากชั้นที่หนึ่ง 5 เมตร มีเจดีย์องค์เล็กประจำทิศเหนือทั้ง 4 และพระพุทธรูปประจำซุ้ม 4 องค์ ผนังประกอบด้วยปูนปั้นเป็น รูปเสามีบัวเหนือเสา พื้นปูด้วยกระเบื้องเซรามิก 6 เหลี่ยม ผนังทั่วไปทำด้วยหินล้างและประดับกระเบื้องด่านเกวียน
       ชั้นที่ 3 สูงจากชั้นที่สอง 4.80 เมตร มีเจดีย์องค์เล็กประจำทิศเฉียง 4 องค์ เช่นเดียวกับชั้นที่ 2 พื้นปูด้วยกระเบื้อง เซรามิก 6 เหลี่ยม
       ชั้นที่ 4 สูงจากชั้นที่สาม 1.60 เมตร ประกอบด้วยฐาน 8 เหลี่ยม เป็นชั้นเริ่มต้นของ ตัวองค์พระธาตุ โครงสร้างประกอบ
     ชั้นที่ 5 สูงจากชั้นที่สาม 1 เมตร ประกอบด้วยฐานบัวกลม ชั้นที่ 5 ถึงชั้นที่ 10มีความสูง 11 เมตรเป็นตัวองค์ระฆังของพระธาตุ โดยเฉพาะชั้นที่ 8 จะเป็นชั้นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ชั้นที่ 10 มีลักษณะองค์ระฆัง เป็นชั้นบัลลังก์ ชั้นที่ 11 ถึงชั้นที่ 14 มีความสูง 4.60 เมตร เป็นชั้นบัลลังก์ประกอบด้วยลักษณะทรงกลมมีลายปูนปั้นเป็นกลีบบัว  ชั้นที่14 ถึงชั้นที่ 16 มีความสูง 6.80 เมตร เป็นชั้นปล้องไฉน มีทั้งหมด 6 ปล้อง ในส่วนชั้นที่ 16 ถึงยอดคือปลียอด มีชั้นปลี ชั้นลูกแก้ว และชั้นฉัตรยอด ส่วนฉัตรยอดบุด้วยโมเสกแก้วสีทอง

       ในทุกปีจะมีการจัดงานนมัสการพระธาตุนาดูน ในช่วงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 หรือวันมาฆบูชาภายในงานจัดให้มีกิจกรรมเวียนเทียน รอบองค์พระบรมธาตุ การบวงสรวงองค์พระบรมธาตุ การปฏิบัติธรรมวิปัสสนาการทำบุญตักบาตร สวดมนต์ฟังธรรม ขบวนแห่ ประเพณี 12 เดือน การแสดงแสง สี เสียง ประวัติความเป็นมานครจำปาศรีและการแสดงมหรสพสมโภชตลอดงาน เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00 – 18.00 น. จากตัวเมืองมหาสารคาม โดยใช้เส้นทางหมายเลข 2040 ผ่านอำเภอแกดำ อำเภอวาปีปทุม แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2045 ถึงอำเภอนาดูน ทางลาดยางตลอด ห่างจากตัวเมืองประมาณ 65 กิโลเมตร


image รูปภาพ
image
image
image
image

image
image
image
 
 
 
 

Website Policy | Privacy Policy | Security Policy | Disclaimer | ข้อกำหนดการใช้ Cookies รองรับการทำงานบน Internet Explorer v.11+, Microsoft Edge, Firefox v.47.0+, Chrome v.51+

จำนวนการเข้าชม : 716,978