Social Link
วันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา

            "มาฆบูชา" ย่อมาจาก "มาฆปูรณมีบูชา" หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะ หรือเดือน ๓ ตามปฏิทินจันทรคติของไทย  ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน ๘ สองหน ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน ๓ หลัง

             วันมาฆบูชา ได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ วันแรกแห่งปี มีความเป็นมาตามเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีก่อน ตามลำดับโดยย่อ ดังนี้

             ภายหลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะ ได้เสด็จออกบรรพชา ทรงละทิ้งการบำเพ็ญทุกกรกิริยาแล้วหันมาบำเพ็ญเพียรทางใจไปในทางสายกลาง จนได้บรรลุอริยสัจ คือ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ได้แก่

                      ๑. ทุกข์  คือ ความไม่สบายกาย  ไม่สบายใจ    
                      ๒. สมุทัย  คือ เหตุให้เกิดทุกข์    
                      ๓. นิโรธ  คือ ความดับทุกข์    
                      ๔. มรรค  คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

ได้พระนามว่า อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะพระองค์เป็นผู้บริสุทธิ์ห่างไกลจากกิเลส ตรัสรู้ได้โดยชอบด้วยพระองค์เอง

             หลังตรัสรู้แล้ว พระองค์ใช้เวลาเสวยวิมุตติสุข ถึง ๗ สัปดาห์ ก่อนจะทรงพิจารณาเห็นว่าธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้เป็นของลึกซึ้ง ยากที่บุคคลอื่นจะตรัสรู้ตามได้  ท้าวสหัมบดีพรหม ทราบความปริวิตกของพระองค์ จึงลงมาอาราธนาให้โปรดแสดงธรรมเพื่อโปรดเวไนยสัตว์ทั้งหลาย โดยอ้างเหตุผลว่า ผู้ที่มีกิเลสน้อย พอที่จะรู้พระธรรมได้มีอยู่ แล้วจึงทรงพิจารณาเห็นอุปนิสัยของสัตว์โลก  เปรียบด้วยดอกบัว ๔ เหล่า คือ
                       ๑. อุคฆฏิตัญญู  มีปัญญาเฉียบแฉลมเปรียบเหมือนบัวพ้นน้ำ    
                       ๒. วิปจิตัญญู    มีปัญญาปานกลางเปรียบเหมือนบัวเสมอ ผิวน้ำ    
                       ๓. เนยยะ    มีปัญญาพอแนะนำได้เปรียบเหมือนบัวใต้น้ำ    
                       ๔. ปทปรมะ    ด้อยปัญญาเปรียบเหมือนบัวอยู่ในโคลนตม    

              พระองค์จึงทรงดำริที่จะแสดงพระธรรมเทศนาเพื่อให้พระศาสนาตั้งมั่นแพร่หลาย โดยการประกาศหลักธรรมคำสอนให้แก่บุคคลต่างๆ จนมีอรหันต์เกิดขึ้นในโลก จำนวน  ๖๐ องค์ ประกอบด้วย 
                       ๑.) พระปัญจวัคคีย์ จำนวน ๕ รูป  มีพระอัญญาโกณฑัญญะ  พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ พระอัสสชิ    
                       ๒.) พระยสะ  พระวิมละ พระสุพาหุ พระปุณณชิ  พระควัมปติ  และเพื่อนพระยสะอีก ๕๐ องค์    
               จากนั้น พระพุทธองค์ จึงทรงเรียกพระสงฆ์สาวกทั้ง ๖๐ รูปมาประชุมพร้อมกัน ทรงให้โอวาทแล้ว ส่งไปเผยแผ่พระศาสนา ด้วยพระดำรัสว่า 

                                 "จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ. 

                                 มา เอเกน เทฺว อคมิตฺถ, เทเสถ ธมฺมํ อาทิกลฺยาณํ มชฺเฌกลฺยาณํ ปริโยสานกลฺยาณํ, 

                                 สาตฺถํ สพฺยญฺชนํ เกวลปริปุณฺณํ ปริสุทฺธํ พฺรหฺมจริยํ ปกาเสถ, สนฺติ สตฺตา อปฺปรชกฺข ชาติกา อสฺสวนฺตา ธมฺมสฺส ปริหายนฺติ, 

                                 ภวิสฺสนฺติ ธมฺมสฺส อญฺญาตาโร,  อหมฺปิ ภิกฺขเว, เยน อุรุเวลา เสนานิคโม เตนุปสงฺกมิสฺสามิ ธมฺมเทสนายาติฯ

                               “ภิกษุทั้งหลาย  เธอทั้งหลาย จงจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุข

                                 แก่ทวยเทพ และมนุษย์  ขอจงอย่าได้ไปรวมทางเดียวกันสองรูป จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด

                                จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ ครบบริสุทธ์บริบูรณ์ สัตว์ทั้งหลายจำพวกที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อยมีอยู่

                                เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมี ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม”

                 ภายหลังทรงส่งพระสงฆ์สาวกออกไปประกาศพระศาสนายังทิศต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ก็ได้มีกุลบุตร ที่มีศรัทธา ได้เข้ามาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก 

                จวบจนกระทั่ง ภายหลังจากที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้ว เป็นเวลา ๙  เดือน ก็เกิดเหตุการณ์มหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ขึ้น ดังคัมภีร์ปปัญจสูทนี ระบุว่าครั้งนั้น ได้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน ๔ ประการ คือ

                     ๑. พระภิกษุ จำนวน๑,๒๕๐ รูป ได้มาประชุมพร้อมกันยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย

                     ๒. พระภิกษุทั้งหมดนั้นเป็น ล้วนแล้วแต่เป็น "เอหิภิกขุอุปสัมทปทา" หรือผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง

                     ๓. พระภิกษุทั้งหมดนั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ ผู้ทรางอภิญญา ๖ และ

                     ๔. วันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญเดือน ๓

                  ดังนั้น จึงเรียกวันนี้อีกอย่างหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔

                พระพุทธเจ้า เมื่อทอดพระเนตรเห็นมหาสังฆสันนิบาตอันประกอบไปด้วยเหตุอัศจรรย์ดังกล่าว จึงทรงเห็นเป็นโอกาสอันสมควรที่จะแสดง ""โอวาทปาฏิโมกข์" อันเป็นหลักคำสอนสำคัญที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาแก่ที่ประชุมพระสงฆ์เหล่านั้น เพื่อวางจุดหมาย หลักการ และวิธีการ ในการเข้าถึงพระพุทธศาสนาแก่พระอรหันตสาวกและพุทธบริษัททั้งหลาย พระพุทธองค์จึงทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์เป็นพระพุทธพจน์  ๓  คาถากึ่ง ท่ามกลางมหาสังฆสันนิบาตนั้น มีใจความดังนี้

                                                สพฺพปาปสฺส อกรณํ (การไม่ทำบาปทั้งปวง)          กุสลสฺสูปสมฺปทา, (การทำกุศลให้ถึงพร้อม,)

                                                สจิตฺตปริโยทปนํ, (การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ), เอตํ พุทฺธานสาสนํฯ , (ธรรม ๓ อย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย,)

                                                                 ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา, (ขันติ คือความอดกลั้น เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง),

                                                                 นิพฺพานัง ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา, (ผู้รู้ทั้งหลาย กล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอันยิ่ง),

                                                                 น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี, (ผู้กำจัดสัตว์อื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเลย),

                                                                 สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโตฯ (ผู้ทำลายสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย,)

                                        อนูปวาโท อนูปฆาโต, (การไม่พูดร้าย, การไม่ทำร้าย),        ปาติโมกฺเข จ สํวโร, (การสำรวมในปาติโมกข์,)

                                        มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ, (ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค,)ปนฺตญฺจ สยนาสนํ, (การนอน การนั่ง ในที่อันสงัด,)

                                        อธิจิตฺเต จ อาโยโค, (ความหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง,) เอตํ พุทฺธานสาสนํฯ (ธรรม ๖ อย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย,)

                  วันมาฆบูชา จัดว่า เป็นวันเวียนเทียนในพระพุทธศาสนา โดยพุทธศาสนิกชนจะได้ร่วมกันปฏิบัติศาสนพิธี ในวันพระอุโบสถ ซึ่งเป็นหน้าที่ตามปกติของชาวพุทธ ได้แก่ ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ซึ่งถือเป็นการร่วมกันสืบต่อพระพุทธศาสนาให้คงอยู่คู่สังคมไทยตลอดไปฯ

 


image รูปภาพ
image
image
image
image
image

image วิดีโอ

ไฟล์เอกสารประกอบ
|

image
image
image
 
 
 
 

Website Policy | Privacy Policy | Security Policy | Disclaimer | ข้อกำหนดการใช้ Cookies รองรับการทำงานบน Internet Explorer v.11+, Microsoft Edge, Firefox v.47.0+, Chrome v.51+

จำนวนการเข้าชม : 966,216